วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2561

การจัดการเรียนโดยใช้บทเรียนโมดูล (Induction Module


ความหมาย
                การจัดการเรียนรู้โดยใช้บทเรียนโมดูลหรือหน่วยการเรียน เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มีการสร้างบทเรียนเป็นหน่วยที่มีเนื้อหาหรือกลุ่มประสบการณ์จบในตัวเอง  สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง  โดยมีวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้แน่นอนและชัดเจนโมดูลหนึ่งๆ จะประกอบด้วยแนวคิด วัตถุประสงค์  กิจกรรมการเรียน  สื่อและการประเมินผล ตามปกติมักนิยมจัดไว้ในลักษณะเป็นแฟ้มห่วงชนิดปกแข็งบรรจุเอกสารพิมพ์ด้วยกระดาษอย่างดีหรือรวบรวมเป็นชุดเอกสาร  เป็นหนังสือ เป็นต้น
ขั้นตอนการสร้างและใช้บทเรียนโมดูล
การจัดการเรียนรู้แบบใช้โมดูลมีขั้นตอนสำคัญดังต่อไปนี้
1.   ขั้นเตรียมการ
ผู้สอนศึกษาปัญหา  ความต้องการและความสนใจของผู้เรียน  เพื่อเลือกสร้างบทเรียนโมดูลขึ้นมา  ซึ่งบุญชม ศรีสะอาด ( 2541 : 92 – 93 ) กล่าวไว้โดยสรุปดังนี้
  •   กำหนดเรื่องที่จะสร้างบทเรียน  ควรตัดสินใจว่าควรสร้างบทเรียนเรื่องใด  ควรเลือกเรื่องที่ตนมีความถนัด  ความสนใจและความรอบรู้เรื่องนั้น ๆ
  • กำหนดหลักการและเหตุผล  เป็นการอธิบายถึงเบื้องหลังความเป็นมาของบทเรียน  ความสำคัญของบทเรียน ขอบเขตของเนื้อหาการเรียนและความสัมพันธ์กับเรื่องอื่น ๆ
  •   กำหนดจุดประสงค์ การกำหนดจุดประสงค์ของบทเรียนจะเป็นแนวในการเขียนเนื้อหาสาระการเรียนตลอดจนกิจกรรมและสื่อต่าง ๆ ของโมดูล การกำหนดจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมจึงเป็นการกำหนดเป้าหมายปลายทางที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนที่สามารถวัดได้  และกำหนดเกณฑ์ที่ใช้สำหรับพิจารณาผู้เรียนว่าบรรลุผลการเรียนในระดับที่น่าพอใจหรือยัง
  •   สำรวจสื่อและแหล่งการเรียนรู้  ผู้สร้างโมดูลจะต้องศึกษาค้นคว้าตำรา  เอกสาร โสตทัศนูปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมากำหนดกิจกรรมและสื่อการเรียนได้อย่างเหมาะสม
  •   วิเคราะห์ภารกิจ  เป็นการวิเคราะห์ว่าบทเรียนนั้นๆ จะต้องอาศัยความรู้พื้นฐานและความสามารถใดมาก่อนบ้าง ระหว่างเรียนจะต้องเรียนรู้เรื่องอะไรบ้างจุดประสงค์แต่ละข้อจะต้องใช้กิจกรรมใดบ้าง  และกิจกรรมเหล่านั้นควรมีลักษณะใด
  •   สร้างเครื่องมือประเมินผล   เป็นการสร้างเครื่องมือประเมินผลก่อนเรียนและหลังเรียน โดยวัดทั้งส่วนที่เป็นความรู้และสมรรถภาพพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียน รวมทั้งความรู้และสมรรถภาพพื้นฐานที่ครอบคลุมจุดประสงค์ของบทเรียน
  •   ปรับปรุงบทเรียน  นำบทเรียนที่สร้างเสร็จแล้วไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ พิจารณาตรวจสอบ  แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ
  •   ทดลองใช้  นำบทเรียนที่ปรับปรุงแล้วมาทดลองใช้เพื่อหาประสิทธิภาพและความเที่ยงตรงของเครื่องมือตามลำดับดังนี้
    •   ทดลองใช้กับกลุ่มย่อย  เพื่อทดลองหาประสิทธิภาพของบทเรียน และทำการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ
    •   ทดลองใช้ในห้องเรียน เพื่อทดลองหาความเที่ยงตรงในการทำหน้าที่เป็นบทเรียน  และปรับปรุงแก้ไขเป็นครั้งสุดท้าย
  •  พิมพ์ฉบับจริง  นำบทเรียนที่ปรับปรุงครั้งสุดท้ายแล้วไปพิมพ์เพื่อจัดใส่แฟ้มปกแข็ง  หรือจัดเป็นชุดเอกสารเพื่อนำไปใช้ต่อไป
2.   ขั้นการเรียนรู้
การนำโมดูลไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ควรดำเนินการดังนี้
  • ประเมินผลก่อนเรียน  โดยอาจใช้เป็นแบบทดสอบชนิดต่าง  ๆ เพื่อทดสอบความรู้ ความสามารถและสมรรถภาพพื้นฐานของผู้เรียน
  • แนะนำการใช้บทเรียน  ผู้สอนแนะนำขั้นตอน  การใช้สื่อการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ตลอดจนรายละเอียดต่าง ๆ ในโมดูล
  •  ทำกิจกรรมตามบทเรียน ให้ผู้เรียนได้ศึกษาเรียนรู้และทำกิจกรรมด้วยตนเองตามขั้นตอนต่าง ๆ ในใบงานหรือบัตรคำสั่งที่กำหนดไว้ในบทเรียน
3.   ขั้นสรุป
  1. ประเมินผลหลังเรียน
    ให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบหลังเรียนจบในแต่ละโมดูลแล้ว
  2. สรุปสาระสำคัญ  ผู้สอนและผู้เรียนสรุปสาระของบทเรียนร่วมกัน
  3. ตรวจสอบและประเมินผลงาน
    ผู้สอนและผู้เรียนตรวจสอบและประเมินผลงานร่วมกัน
  4. เรียนซ่อมเสริม
    ผู้สอนและผู้เรียนวางแผนการเรียนซ่อมเสริมในกรณีที่ผลการประเมินหลังเรียนยังไม่เป็นที่น่าพอใจ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น